(9 พฤษภาคม 2566) คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (สำนักงาน ก.พ.ร.) เสนอ ดังนี้

1. แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกอบด้วยกรอบการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน และวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น และระดับมาตรฐาน ซึ่งเป็นการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรกตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565

2. ให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) โดยมีแนวทางดังนี้ 1) ให้หน่วยงานที่ยังไม่มีช่องทางการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์นำงานบริการมาพัฒนาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางดังกล่าว เป็นทางเลือกแรก 2) ให้หน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้วนำงานบริการมาเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง

โดยมอบให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เป็นผู้พิจารณากรอบเวลาดำเนินการสำหรับ 2 กรณีดังกล่าว และติดตามเป็นระยะ เพื่อให้งานบริการของรัฐอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว

สาระสำคัญของเรื่อง

1. พระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2565 และมีผลใช้บังคับทุกมาตราเมื่อพ้นกำหนด 90 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป หรือตั้งแต่วันที่ 10 มกราคม 2566 มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เสนอมาในครั้งนี้ ดังนี้

1.1 ให้ใช้บังคับแก่หน่วยงานของรัฐทุกหน่วย (ได้แก่ ราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นของรัฐทุกหน่วย แต่ไม่รวมถึงรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด รวมทั้งหน่วยงานของรัฐในฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอัยการ และหน่วยงานอื่นของรัฐที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 4)

1.2 ให้สำนักงาน ก.พ.ร. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) (สพร.) ร่วมกันจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดให้หน่วยงานของรัฐใช้และปฏิบัติ โดยจะจัดแบ่งวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นระยะเริ่มต้นและระยะต่อ ๆ ไปก็ได้ แต่ระยะแรกสำหรับการเริ่มต้นดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ จะต้องจะทำให้แล้วเสร็จเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ภายใน 240 วัน นับแต่วันที่พระราชบัญญัติใช้บังคับ (ภายในวันที่ 9 มิถุนายน 2566) (มาตรา 19)

2. กรอบแนวคิดสำหรับการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นไปตามมาตรฐานว่าด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัลภาครัฐ แบ่งออกเป็น 3 ระดับ ตามความพร้อมของหน่วยงานของรัฐ ดังนี้

2.1 ระดับเริ่มต้น คือ หน่วยงานที่มีข้อจำกัดด้านบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ สามารถจัดทำบริการอย่างง่ายโดยอาศัยช่องทางอีเมลหรือสื่อสังคมออนไลน์ เน้นการอำนวยความสะดวกเบื้องต้น เป็นธุรกรรมที่มีความเสี่ยงต่ำและมีปริมาณรายการไม่มาก

2.2 ระดับมาตรฐาน คือ หน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณระดับมาตรฐาน สามารถจัดทำบริการรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) หรือแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) เน้นให้บริการได้แบบครบถ้วน (End-to-end)1 อาจใช้บริการ Backend จากแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ระบบการให้บริการภาครัฐแก่นิติบุคคลแบบเบ็ดเสร็จทางอิเล็กทรอนิกส์ (Biz Portal) และพอร์ทัลกลางเพื่อประชาชน (Citizen Portal) หรือแอปพลิเคชันทางรัฐ

2.3 ระดับสูง คือ หน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งบุคลากร เทคโนโลยีและงบประมาณระดับสูง สามารถจัดทำบริการรูปแบบเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) หรือแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) โดยมีระบบ Backend ของตนเอง มีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่น AI และ Machine Learning รองรับการประมวลผลที่ซับซ้อนมีจำนวนรายการมาก และมีความพร้อมในการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานอื่น

ทั้งนี้ หน่วยงานจะต้องประเมินตนเองและกำหนดระดับที่สามารถดำเนินการได้ และพิจารณาดำเนินการในระดับที่สูงขึ้นเมื่อมีความพร้อมซึ่งประกอบด้วยแนวปฏิบัติกระบวนการทางดิจิทัล จำนวน 8 กระบวนการ ได้แก่ (1) การสืบค้นข้อมูล (2) การพิสูจน์และยืนยันตัวตน (3) การจัดทำแบบคำขอและยื่นคำขอ (4) การตรวจและพิจารณาคำขอ (5) การอนุมัติ (6) การชำระค่าธรรมเนียม (7) การออกใบอนุญาตและเอกสารอื่น และ (8) การจัดส่งใบอนุญาตหรือเอกสารอื่น

3. แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงาน

สำนักงาน ก.พ.ร. สคก. สพธอ. และ สพร. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ร่วมจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2565 เห็นว่าในปัจจุบันหน่วยงานของรัฐส่วนใหญ่มีความพร้อมในระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ดังนั้น เพื่อให้หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยมีวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์พร้อมทั้งสามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน ในระยะแรกจึงควรจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐานก่อน ซึ่ง ก.พ.ร.ในการประชุมครั้งที่ 1/2566 เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566 มีมติเห็นชอบด้วยแล้ว มีสาระสำคัญ สรุปได้ ดังนี้

3.1 กรอบการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน เพื่อให้หน่วยงานมีความรู้ความเข้าใจต่อการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ไปใช้โดยง่ายและเหมาะสมกับภารกิจหรืองานบริการของหน่วยงาน โดยให้คำนึงถึงการอำนวยความสะดวกของประชาชนในการติดต่อหรือขออนุญาต ตลอดจนการดำเนินการต่าง ๆ ที่มีประสิทธิภาพไม่น้อยลงไปจากเดิมประกอบด้วยสาระสำคัญ 2 ส่วน ได้แก่

3.1.1) ขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นคำแนะนำการใช้เครื่องมือตามความพร้อมของหน่วยงานทั้งในระดับเริ่มต้น เช่น ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเมล) ไลน์ ระดับมาตรฐาน เช่น Facebook หรือสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ และระดับสูง เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่อให้หน่วยงานทราบถึงภาพรวมการใช้เครื่องมือสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการติดต่อหรือขออนุมัติอนุญาตตั้งแต่การสืบค้นข้อมูลจนถึงการจัดส่งใบอนุญาตและเอกสารอื่น รวมทั้งการติดตามสถานะหรือการแจ้งเตือน และการแสดงใบอนุญาตตามที่กฎหมายกำหนด

3.1.2) รายละเอียดการดำเนินการโดยสังเขปสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นข้อมูลที่แจ้งให้หน่วยงานทราบถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การจัดหาทั้งด้านเทคโนโลยีและด้านการบริหารจัดการ (องค์ความรู้ เจ้าหน้าที่ ฯลฯ) การนำไปใช้ให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนข้อแนะนำ/ข้อพึงระวังของการใช้เครื่องมือ

3.2 วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยจำแนกออกเป็น (1) วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นเพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ สามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายในระดับเริ่มต้นได้อย่างครบถ้วน และ (2) วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐานซึ่งเป็นการยกระดับสู่การใช้ระบบ e-Service ของหน่วยงานในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขออนุญาตหรือติดต่อราชการ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ ดังนี้

1. การสร้างช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น

สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน
วิธีการสำหรับหน่วยงานที่ยังไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรับเรื่องจากประชาชน โดยข้อแนะนำขั้นต้น คือ การสร้างอีเมลเพื่อเป็นช่องทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับรับเรื่องจากประชาชน ซึ่งครอบคลุมการดำเนินการต่าง ๆ เช่น – การจดทะเบียนโดเมนเนมเพื่อนำไปใช้เป็นโดเมนเนมอีเมลของหน่วยงาน – การจัดตั้งและกำหนดชื่อบัญชีอีเมลกลางให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยงานสารบรรณ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2564 – การมอบหมายเจ้าหน้าที่สารบรรณเป็นผู้ควบคุมดูแลบัญชีอีเมลกลาง และตรวจสอบอีเมลในแต่ละวัน วิธีการสำหรับหน่วยงานที่มีการพัฒนาระบบ e-Service สำหรับรับเรื่องจากประชาชนซึ่งอาจเป็นเว็บแอปพลิเคชัน (Web Application) หรือแอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ (Mobile Application) หรือบริการภายใต้แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น บริการในแอปพลิเคชันทางรัฐ

2. การรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น

สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน
วิธีการสำหรับเจ้าหน้าที่สารบรรณเมื่อได้รับเรื่องจากประชาชนหรือหน่วยงานอื่นทางอีเมล เช่น การตรวจสอบหัวข้ออีเมล การแจ้งกลับผู้ส่งกรณีส่งผิดหน่วยงาน การตอบกลับเมื่อได้รับเรื่องแล้ว การดำเนินการหากมีการส่งเรื่องผิดช่องทางจากที่หัวหน้าหน่วยงานประกาศกำหนดไว้ เป็นต้น วิธีการสำหรับเจ้าหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายเมื่อได้รับเรื่องจากประชาชนหรือหน่วยงานอื่นทางระบบ e-Service เช่น การลงทะเบียนเรื่องเข้าสู่ระบบฐานข้อมูล และส่งต่อให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง การแจ้งกลับผู้ส่งกรณีส่งผิดหน่วยงาน การตอบกลับเมื่อได้รับเรื่องแล้วรวมทั้งการดำเนินการหากมีการส่งเรื่องผิดช่องทางจากที่หัวหน้าหน่วยงานประกาศกำหนดไว้ เป็นต้น

3. การดำเนินการภายในหน่วยงานหลังจากได้รับเรื่องทางอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน
วิธีการสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับเรื่องจากสารบรรณ เช่น การตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารหลักฐาน การดำเนินการหากไม่สามารถติดต่อกลับในกรณีคำขอหรือเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน การพิสูจน์และยืนยันตัวตน การรับเงินค่าคำขอ ค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใด จากประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งต่อเรื่องภายในหน่วยงาน วิธีการสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ได้รับเรื่องส่งต่อจากระบบ e-Service เช่น การตรวจสอบความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารหลักฐาน การดำเนินการหากไม่สามารถติดต่อกลับในกรณีคำขอหรือเอกสารหลักฐานไม่ครบถ้วน การพิสูจน์และยืนยันตัวตน การรับเงินค่าคำขอค่าธรรมเนียม หรือเงินอื่นใดจากประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการส่งต่อเรื่องภายในหน่วยงาน ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการผ่านระบบ e-Service จะต้องคำนึงถึงมาตรฐานการดำเนินการทางอิเล็กทรอนิกส์ และแนวปฏิบัติของหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนั้นกำหนดไว้ด้วย เช่น ข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แนวทางการลงลายมือชื่อทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือหนังสือเวียนของกระทรวงการคลัง (กค.) เกี่ยวกับด้านการเงินการคลัง

4. การออกใบอนุญาต การแจ้งผลการพิจารณา หรือการออกหลักฐานอื่นใดให้ประชาชนที่ยื่นคำขอหรือติดต่อมาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์

สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน
วิธีการสำหรับหน่วยงานที่ยังไม่มีระบบอิเล็กทรอนิกส์สำหรับออกเอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การแปลงจากเอกสารกระดาษให้อยู่ในรูปแบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การให้คำแนะนำในการจัดหาและจดทะเบียนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ การทำให้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์มีความน่าเชื่อถือ การจัดส่งใบอนุญาตหรือการแจ้งผลการพิจารณาผ่านทางอีเมล การจัดเก็บและสำรองข้อมูลของอีเมล วิธีการสำหรับหน่วยงานที่มีระบบสำหรับออกเอกสารหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การสร้างเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ การให้คำแนะนำในการจัดหาและจดทะเบียนใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์การทำให้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์มีความน่าเชื่อถือ การจัดส่งใบอนุญาตหรือการแจ้งผลการพิจารณาผ่านระบบ e-Service ของหน่วยงาน การจัดเก็บและสำรองข้อมูลของระบบ e-Service

5. การจัดทำฐานข้อมูลใบอนุญาตที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ในที่เปิดเผย

สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน
วิธีการจัดทำฐานข้อมูลผ่านโปรแกรมพื้นฐาน เช่น Microsoft Excel Google Sheets Apple Numbers หรือแอปพลิเคชันอื่นใด แนวทางการเผยแพร่ฐานข้อมูลดังกล่าว เช่น เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงานหรือหน่วยงานต้นสังกัด เผยแพร่ผ่านการเชื่อมโยงกับศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และการดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่หน่วยงานยังมิได้จัดทำฐานข้อมูลเผยแพร่ให้ประชาชนสืบค้นได้ วิธีการรวบรวมและจัดเก็บข้อมูลไว้ในระบบ e-Service แนวทางการเผยแพร่ฐานข้อมูลดังกล่าว เช่น ส่งออกข้อมูลในรูปแบบไฟล์ เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของหน่วยงาน หรือหน่วยงานต้นสังกัด เผยแพร่ผ่านการเชื่อมโยงกับศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐ รวมทั้งการปรับปรุงฐานข้อมูลให้เป็นปัจจุบัน และการดำเนินการตามกฎหมายในกรณีที่หน่วยงานยังมิได้จัดทำฐานข้อมูลเผยแพร่ให้ประชาชนสืบค้นได้

6. เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน
การนำวิธีการฯ ระดับเริ่มต้นไปใช้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำสำหรับหน่วยงานของรัฐที่มีข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ บุคลากร และขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยี แต่มิได้จำกัดให้หน่วยงานที่มีความพร้อมและศักยภาพที่จะเลือกใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่มีมาตรฐานสูงกว่าที่กำหนดไว้ในวิธีการฯ ระดับเริ่มต้น นอกจากนี้ได้กล่าวถึงช่องทางในการสอบถามข้อมูล หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.พ.ร. ระบบ e-Service ของหน่วยงาน หากยังมีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนตามที่กำหนดในภาคผนวกของวิธีการฯ ระดับมาตรฐาน หน่วยงานสามารถนำวิธีการฯ ระดับเริ่มต้นมาใช้ได้โดยอนุโลม นอกจากนี้ ได้กล่าวถึงช่องทางในการสอบถามข้อมูล หากมีข้อสงสัยหรือต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมผ่านทางเว็บไซต์และไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงาน ก.พ.ร.

3.3 การกำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) เพื่อบูรณาการการให้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ตอบโจทย์ประชาชนในมิติต่าง ๆ